3 ฉากทัศน์ภาษีสหรัฐตอบโต้ไทย ใครได้-ใครเสีย ในสมรภูมิการแข่งขันกับอาเซียน

30 มิถุนายน 2568
3 ฉากทัศน์ภาษีสหรัฐตอบโต้ไทย ใครได้-ใครเสีย ในสมรภูมิการแข่งขันกับอาเซียน

คำประกาศของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2568 ว่าจะเรียกเก็บภาษีจากประเทศคู่ค้าในอัตรา 25% ภายในสัปดาห์ครึ่งนับจากนี้ ได้กดดันระบบการค้าโลกครั้งใหม่

ขณะที่นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ แสดงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเจรจาการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยกล่าวว่า รัฐบาลทรัมป์หวังจะสรุปข้อตกลงการค้ากับประเทศต่าง ๆ ให้ได้ภายในวันแรงงาน หรือวันที่ 1 กันยายน โดยระบุว่ามีการหารือกับคู่ค้า 18 ราย และกำลังมีการปรับแก้ข้อตกลงกับจีนเกี่ยวกับการนำเข้าแร่ธาตุหายาก และแม่เหล็ก

อย่างไรก็ดีในส่วนของประเทศไทยอาจต้องเผชิญชะตากรรมคล้ายหรือเลวร้ายกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพราะการเจรจายังคงอยู่ในกรอบระยะเวลาที่จำกัด หากไทยไม่สามารถโน้มน้าววอชิงตันได้ทันเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ (ครบกำหนดที่สหรัฐชะลอการเก็บภาษีตอบโต้ 90 วัน)  และสหรัฐไม่มีการต่อเวลาเส้นตายออกไปอีก

ทั้งนี้ฉากทัศน์ โอกาส และความเสี่ยง สำหรับประเทศไทยในการเจรจากับสหรัฐในครั้งนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณีเป็นอย่างน้อย

  • ฉากทัศน์ที่ 1 : ไทยถูกเก็บภาษี 25% เท่ากับเพื่อนบ้าน

 ผลกระทบ :

แม้จะเป็นอัตราภาษีที่ยังสูง แต่ถือว่าไทยสามารถ “เลี่ยงแรงปะทะ” ได้สำเร็จเมื่อเทียบกับอัตรา 36% เดิม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยจะสามารถรักษาความสามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้บางส่วน โดยเฉพาะกับมาเลเซีย (24%) และอินโดฯ (32%)

โดยในกลุ่มสินค้าเกษตรและชิ้นส่วนยานยนต์ จะยังได้รับผลกระทบ แต่ก็พอที่จะเจรจาค่าขนส่ง และต่อรองราคากับผู้ซื้อได้ ส่วนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอิเล็กทรอนิกส์ จะยังมีความเสี่ยง แต่ยังอยู่ในกรอบที่ยังสามารถบริหารจัดการได้

  •  ฉากทัศน์ที่ 2 : ไทยถูกเก็บภาษี “สูงกว่า” เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ปัจจุบันภาษีไทยยังอยู่ที่ 36% ในขณะที่เวียดนาม 46%  แต่หากถูกกำหนดให้เสีย 36% ในขณะที่เพื่อนบ้านได้ลดภาษี เช่น เหลือ 25–28% ย่อมกลายเป็นจุดหักเห

ผลกระทบ :

ศักยภาพการแข่งขันกับสินค้ากลุ่มเดียวกันจากเวียดนาม เช่น ข้าว อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้ และเสื้อผ้า จะลดลงทันที ส่วนกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในผู้นำในอาเซียน จะถูกกดราคา และถูกแย่งตลาดจากโรงงานผลิตที่อยู่ในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย โรงงานของบริษัทข้ามชาติอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ได้อัตราภาษีต่ำกว่า

ส่วนในสินค้าเหล็ก และอะลูมิเนียมที่ไทยถูกสหรัฐเก็บภาษีไปก่อนหน้านี้ในอัตรา 25% ผู้ประกอบการจะถูกซ้ำเติมเรื่องกำไรขั้นต้นลดลงไปถึงต่ำกว่า 10% รวมถึงในหลาย ๆ สินค้าก็จะประสบชะตาเดียวกัน

ฉากทัศน์ที่ 3: ไทยได้อัตราภาษี “ต่ำกว่า” เวียดนาม  (เช่น ไทย 25% เวียดนาม 36–46%)

โอกาสที่เกิดขึ้น :

  • ไทยจะกลายเป็นตัวเลือกปลอดภัยของซัพพลายเชนสหรัฐ แทนเวียดนามในหลายกลุ่มสินค้า เช่น อาหาร เกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์
  •  นักลงทุนอเมริกันอาจขยายฐานการผลิตมายังไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดแวร์ และพลังงาน
  • สินค้าไทยที่เคยมีต้นทุนสูงกว่าเวียดนามเล็กน้อย อาจกลับมาชิงพื้นที่ในชั้นวางจำหน่ายในสหรัฐได้เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรี “พิชัย ชุณหวชิร” ยืนยันว่า คณะเจรจาระดับสูงของไทย จะเดินทางไปยังสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือในประเด็นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งนายพิชัยได้ปฏิเสธข่าวลือที่ว่าไทยจะได้รับการลดภาษีเหลือ 18% โดยระบุว่ายังอยู่ในช่วงเจรจาและยังไม่มีข้อตกลงใดอย่างเป็นทางการ

สำหรับกรอบเจรจาของไทยที่ไปเจรจากับสหรัฐในครั้งนี้ ยังอยู่ใน 5 หัวข้อไฮไลต์ ได้แก่

1.เพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐ โดยเน้นสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และเชื้อเพลิง ฯลฯ

2.ผ่อนคลาย NTBs  โดยลดข้อจำกัดที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อสนับสนุนการนำเข้า

3.ส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วม เช่น การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง

4.ความโปร่งใสเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อป้องกันการแอบอ้างสินค้าจากประเทศที่สามว่าเป็น “Made in Thailand” แล้วส่งออกไปสหรัฐ

5.สนับสนุนการลงทุนไทยในสหรัฐ เพื่อสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ทางการค้า

ดังนั้นการเจรจาในครั้งนี้ได้พกความคาดหวังของภาคธุรกิจและประชาชนไทยไปอย่างเต็มเปี่ยม พร้อมกับแรงกดดันรอบด้านที่อาจจะมีขึ้นจากฝ่ายสหรัฐเพื่อต่อรองผลประโยชน์จากไทย

การเจรจาครั้งนี้มุ่งหวังจะช่วยบรรเทาภาระภาษีตอบโต้ที่สหรัฐจะเก็บจากไทย โดยอาจลดลงเหลือระดับใกล้มาตรฐานที่ 10–18% (หรือไม่เก็บได้เลยยิ่งดี แต่มีโอกาสเป็นไปได้ยาก) ซึ่งอัตราภาษีที่ไทยจะได้รับในครั้งนี้ จะเป็นเท่าใดนั้น อีกไม่กี่อึดใจก็จะได้รู้กัน


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.